วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและผลกระทบต่อสุขภาพ

มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)  
        แหล่งกำเนิดที่สำคัญมาจากยานพาหนะและการคมนาคม รวมทั้งปัญหาจราจร การเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะก่อให้เกิดมลพิษคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) ไฮโดรคาร์บอน (HC) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NO, NO2 และ NOx) และ สารตะกั่ว ซึ่งใช้เป็นสารเติมในน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากโรงไฟฟ้า ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการแพ้ และระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและมลพิษอากาศแต่ละชนิดจะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจมีความรุนแรงแตกต่างกัน มลพิษอากาศบางชนิดจะมีความรุนแรงสูง โดยเฉพาะมลพิษอากาศที่มีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่วมกันเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (0.2-10 ไมครอน) จะมีฤทธิ์เสริมกันก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจเข้าไปถึงปอด และถุงลมได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
  •        ฝุ่นละออง ได้แก่ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจได้ โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน 
  •      คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) เป็นก๊าซที่ทำให้ประสิทธิภาพการรับออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงลดลง ถ้าสูดดมเข้าไปเล็กน้อยจะทำให้ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ถ้าสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้ตายและยังมีผลต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการของทารก 
  •      ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น มีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ตาแดงอักเสบ ระคายเคืองคอ และระบบหายใจ 
  •      ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เป็นก๊าซที่มีกลิ่นเหม็นที่เรียกกันว่า ก๊าซไข่เน่า ทำให้แสบจมูก ระบบทางเดินหายใจอักเสบและอาจทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบ ทำลายเนื้อเยื่อปอด 
  •      ตะกั่ว (Pb) เป็นมลพิษที่มีอันตรายสูงต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง มีผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านความจำ ความเฉลียวฉลาด ทำให้ IQ ต่ำ 
  •      โอโซน (O3) มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวกทำให้ถุงลมพอง และมีอาการปอดบวม ถ้าหายใจเข้าไปมากในภาวะที่เกิดมลพิษทางอากาศโดยมีแสงแดด และมีก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) และออกไซด์ของไนโตรเจนปนเปื้อนอยู่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาโฟโตเคมีคัล ทำให้เกิดสารใหม่ขึ้นหลายอย่าง แต่จะเกิดโอโซนขึ้นประมาณ 90% และนอกจากนี้จะเกิดไนโตรเจน ไดออกไซด์ (NO2) และเปอร์ออกซิอะซีติลไนเตรท (Peroxyacetyl Nitrate, PAN) ซึ่งเป็นสารที่มีความสามารถในการออกซิไดส์สูงมาก
ของเสียในเมือง (Urban Waste Pollution)
        สิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย เป็นผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาเมืองและกระบวนการผลิตสิ่งอุปโภค บริโภคต่างๆ ทั้งในรูปของของเหลวและของแข็ง การทิ้งขยะ ของเสียปฏิกูลต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ประสบกับปัญหามากมาย ทั้งในด้านการจัดเก็บรวบรวม การขนถ่าย การบำบัด และการกำจัดขั้นสุดท้าย ถ้าหากระบบเหล่านี้ไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพก็จะก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านสุขภาพ 
ที่มา http://www.human.cmu.ac.th/~hc/ebook/006103/lesson4/03.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น