วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

องค์การอนามัยโลก (WHO)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดกลุ่มโรคติดต่อหลายชนิดที่เกิดจากน้ำที่ปนเปื้อนด้วยของเสียจากมนุษย์ ของเสียประเภทสารเคมีหรือของเสียจากอุตสาหกรรม ทั้งจากการกิน การสัมผัสของร่างกาย ดังนี้

1.โรคหรือความเจ็บป่วยที่มีน้ำเป็นสื่อในการแพร่กระจาย (Water-borne disease) เกิดจากการบริโภคน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของคนหรือสัตว์ที่มีเชื้อโรคแบคทีเรีย ไวรัส เช่น เชื้ออหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ และโรคอุจจาระร่วง อื่นๆ

2.โรคหรือความเจ็บป่วยที่เนื่องมาจากความขาดแคลนน้ำสะอาดในการชำระล้าง ทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม (Water-washed disease) มักจะเป็นโรคติดเชื้อตามภายนอกร่างกาย ผิวหน้า เยื่อบุตา เช่น ริดสีดวงตา (ตาแดง) แผลตามผิวหนัง หิด เหา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอนามัยส่วนบุคคลไม่ดี (Poor personal hygiene)

3.โรคหรือความเจ็บป่วยเนื่องจากเชื้อโรคหรือสัตว์นำโรคที่มีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในน้ำ (Water-based disease) เกิดจากปาราสิตพวกที่มีระยะการเจริญเติบโตอยู่ในน้ำ เช่น โรคพยาธิต่างๆ ที่พบบ่อยเช่น โรคพยาธิใบไม้ชนิดต่างๆ

4.โรคหรือความเจ็บป่วยเนื่องมาจากแมลงเป็นพาหะนำเชื้อโรคต้องอาศัยน้ำในการแพร่พันธุ์ (Water-related disease) เกิดจากแมลงพาหะนำโรคที่แพร่พันธุ์ในน้ำเช่น ยุงชนิดต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรค ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้เหลือง โรคเท้าช้าง ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ เป็นต้น

ที่มา http://www.human.cmu.ac.th/~hc/ebook/006103/lesson4/03.htm

เสียงและเหตุรำคาญ (Noise and a Nuisance)

เสียงและเหตุรำคาญ (Noise and a Nuisance)
        มลพิษทางเสียง (Noise pollution) หรือการได้สัมผัสเสียงดังเกินของคนในเมืองกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเมืองในยุคที่ยวดยานพาหนะมีจำนวนมากขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นการสูญเสียการได้ยิน ก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยทางกายหลายอย่างเช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว มีอาการปวดศีรษะ นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดคลอเรสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น

 ที่มา http://www.human.cmu.ac.th/~hc/ebook/006103/lesson4/03.htm

มลพิษทางน้ำ (Water Pollution)

มลพิษทางน้ำ (Water Pollution)
สารมลพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ


1. จุลินทรีย์ (Micro-Organisms) น้ำเสียที่ปล่อยจากโรงพยาบาลหรือจากแหล่งชุมชน รวมถึงการปล่อยน้ำสิ่งปฏิกูลจากถังส้วม เป็นสาเหตุสำคัญที่อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ได้ ซึ่งของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่เป็นพวกจุลินทรีย์และอาจมีไข่พยาธิต่างๆ ปนอยู่ด้วย

2. สารมีพิษ (Toxic Agents) เป็นสารที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ปรอท แคคเมี่ยม ตะกั่ว และพวกสารประกอบอินทรีย์บางชนิด เช่น ไซยาไนต์ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

3. สารอินทรีย์ (Organic Matter) เป็นมลสารสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ สารอินทรีย์แบ่งออกได้เป็น สารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ และถูกย่อยสลายไม่ได้ สารอินทรีย์ประเภทที่ย่อยสลายได้อาจทำให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ เนื่องจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ต้องใช้ก๊าซออกซิเจนละลายน้ำ และถ้ามีการปล่อยของเสียที่มีอินทรีย์สารลงไปน้ำ ในปริมาณมากก็จะทำให้แหล่งน้ำเกิดสภาวะขาดออกซิเจน ทำให้น้ำเน่าเสียได้

4. สารอาหารของพืชน้ำ ที่สำคัญได้แก่ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส (Nitrogen and Phosphorus Compounds) ถ้าแหล่งน้ำได้รับการปนเปื้อนของสารประกอบ เรียกว่า ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)โดยเป็นตัวปิดกั้นการถ่ายเทอากาศทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง

5. ความร้อน การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอุณหภูมิสูงและน้ำเสียจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าหรือน้ำหล่อเย็นของเครื่องจักรกลต่างๆ ที่มีอุณหภูมิสูง ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดอันตรายต่อพืชและสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่ออัตราการย่อยสลายทางชีววิทยา ระดับการ อิ่มตัวของก๊าซออกซิเจน และอัตราการเติมอากาศในน้ำ (Reaeration) เปลี่ยนไป


ที่มา http://www.human.cmu.ac.th/~hc/ebook/006103/lesson4/03.htm

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและผลกระทบต่อสุขภาพ

มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)  
        แหล่งกำเนิดที่สำคัญมาจากยานพาหนะและการคมนาคม รวมทั้งปัญหาจราจร การเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะก่อให้เกิดมลพิษคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) ไฮโดรคาร์บอน (HC) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NO, NO2 และ NOx) และ สารตะกั่ว ซึ่งใช้เป็นสารเติมในน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากโรงไฟฟ้า ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการแพ้ และระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและมลพิษอากาศแต่ละชนิดจะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจมีความรุนแรงแตกต่างกัน มลพิษอากาศบางชนิดจะมีความรุนแรงสูง โดยเฉพาะมลพิษอากาศที่มีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่วมกันเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (0.2-10 ไมครอน) จะมีฤทธิ์เสริมกันก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจเข้าไปถึงปอด และถุงลมได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
  •        ฝุ่นละออง ได้แก่ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจได้ โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน 
  •      คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) เป็นก๊าซที่ทำให้ประสิทธิภาพการรับออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงลดลง ถ้าสูดดมเข้าไปเล็กน้อยจะทำให้ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ถ้าสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้ตายและยังมีผลต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการของทารก 
  •      ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น มีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ตาแดงอักเสบ ระคายเคืองคอ และระบบหายใจ 
  •      ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เป็นก๊าซที่มีกลิ่นเหม็นที่เรียกกันว่า ก๊าซไข่เน่า ทำให้แสบจมูก ระบบทางเดินหายใจอักเสบและอาจทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบ ทำลายเนื้อเยื่อปอด 
  •      ตะกั่ว (Pb) เป็นมลพิษที่มีอันตรายสูงต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง มีผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านความจำ ความเฉลียวฉลาด ทำให้ IQ ต่ำ 
  •      โอโซน (O3) มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวกทำให้ถุงลมพอง และมีอาการปอดบวม ถ้าหายใจเข้าไปมากในภาวะที่เกิดมลพิษทางอากาศโดยมีแสงแดด และมีก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) และออกไซด์ของไนโตรเจนปนเปื้อนอยู่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาโฟโตเคมีคัล ทำให้เกิดสารใหม่ขึ้นหลายอย่าง แต่จะเกิดโอโซนขึ้นประมาณ 90% และนอกจากนี้จะเกิดไนโตรเจน ไดออกไซด์ (NO2) และเปอร์ออกซิอะซีติลไนเตรท (Peroxyacetyl Nitrate, PAN) ซึ่งเป็นสารที่มีความสามารถในการออกซิไดส์สูงมาก
ของเสียในเมือง (Urban Waste Pollution)
        สิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย เป็นผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาเมืองและกระบวนการผลิตสิ่งอุปโภค บริโภคต่างๆ ทั้งในรูปของของเหลวและของแข็ง การทิ้งขยะ ของเสียปฏิกูลต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ประสบกับปัญหามากมาย ทั้งในด้านการจัดเก็บรวบรวม การขนถ่าย การบำบัด และการกำจัดขั้นสุดท้าย ถ้าหากระบบเหล่านี้ไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพก็จะก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านสุขภาพ 
ที่มา http://www.human.cmu.ac.th/~hc/ebook/006103/lesson4/03.htm